วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความเกี่ยวพันกัน อิทธิบาท ๔ ศีล ๕ พรหมวิหาร ๔ กรรมบถ ๑๐ บารมี ๑๐ ทัศ

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับชื่อเรื่อง คือ "ความเกี่ยวพันกัน อิทธิบาท ๔ ศีล ๕ พรหมวิหาร ๔ กรรมบถ ๑๐ บารมี ๑๐ ทัศ" มากมาย  แต่หลังจากที่ได้ฟังท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำแล้ว (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ รวม YouTube ) ก็เลยลองทำในลักษณะการเชื่อมโยง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นดังภาพข้างล่างนี้หรือไม่ (และถูกต้องหรือไม่)  

ดังนั้น เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับ
- อิทธิบาท ๔
- ศีล ๕
- พรหมวิหาร ๔
- กรรมบถ ๑๐
- บารมี ๑๐ ทัศ

ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอดังต่อไปนี้


อิทธิบาท หรือ อิทธิบาท ๔ เป็นศัพท์ในพุทธศาสนา หมายถึง ฐานหรือหนทางสู่ความสำเร็จ หรือ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์ ทางแห่งความสำเร็จ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มี ๔ ประการ คือ
  • ฉันทะ (ความพอใจ) คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ ได้ผลดียิ่งๆขึ้นไป
  • วิริยะ (ความเพียร) คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย
  • จิตตะ (ความคิด) คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป
  • วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง) คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
(อ้างอิงจาก : ที่นี่)


ศีล ๕ คือศีลพื้นฐานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ชาวพุทธทุกคนยึดถือปฏิบัติเป็นหลักของชีวิต
ศีล ๕ ประกอบไปด้วยหลักปฏิบัติ ๕ ข้อดังนี้
ศีลข้อที ๑ ปาณาติปาตาเวรมณี หมายถึง การละเว้นจากการฆ่าชีวิตสัตว์ทุกชนิด
ศีลข้อที่ ๒ อทินนาทานาเวรมณี หมายถึง การเว้นจากการลักทรัพย์ หรือทรัพย์ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
ศีลข้อที่ ๓ กาเมสุมิสฉาจาราเวรมณี หมายถึง การละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม การประพฤติผิดลูกผิดเมียคนอื่น
ศีลข้อที่ ๔ มุสาวาทาเวรมณี หมายถึง การละเว้นจากการพูดปดงดเท็จ พูดจาโกหก พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย
ศีลข้อที่ ๕ สุราเมรยมัฌชปะมาทัตถานาเวรมณี หมายถึง การละเว้นจากการดื่มสุราเมรัยและเครื่องดองของมืนเมาทุกชนิด

 (อ้างอิงจาก : ที่นี่)


พรหมวิหาร ๔
ความหมายของพรหมวิหาร ๔
- พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่

เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
กรุณา ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
อุเบกขา การรู้จักวางเฉย

คำอธิบายพรหมวิหาร ๔
 ๑. เมตตา : ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
 และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น
๓. กรุณา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย
 ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

- ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และ
 ความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า กายิกทุกข์
- ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์
๓. มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เช่น เห็นเพื่อนแต่งตัวเรียบร้อยแล้วครูชมเชยก็เกิดความริษยาจึงแกล้งเอาเศษชอล์ก โคลน หรือหมึกไปป้ายตามเสื้อกางเกงของเพื่อนนักเรียนคนนั้นให้สกปรกเลอะเทอะ เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง
๔. อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
(อ้างอิงจาก : ที่นี่)

กรรมบถ ๑๐
บุคคลที่จะเป็นมนุษย์สมบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัย กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ เป็นสำคัญ เพราะว่าคำว่า “มนุษย์” นี้ แปลว่า เป็นผู้มีใจสูง คือมีอารมณ์ดี”
แล้วองค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาจึงได้นำมาซึ่ง กรรมบถ ๑๐ ประการ แสดงแก่พราหมณ์และบรรดาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายโดยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า “ ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดที่จะปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ครบถ้วนบริบูรณ์ก็ดี หรือว่าจะสร้างกุศลบุญบารมีให้เกิดเป็นมนุษย์ต่อไป ต้องปฏิบัติด้วยเหตุ ๑๐ ประการนี้ คือ
(๑) ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือว่าประทุษร้ายสัตว์ทั้งหลายให้มีความลำบาก
(๒) อทินนาทานา เวรมณี จงเว้นการถือเอาของที่บุคคลอื่นไม่ให้ มาเป็นของตนโดยเจตนา
(๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี จงเว้นจากการคบหาสมาคมกับบุตร ธิดา ภรรยาของบุคคลอื่น
(๔) มุสาวาทา เวรมณี จงเว้นจากการพูดเท็จ
(๕) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี จงเว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้บุคคลทั้งหลายแตกร้าวกัน
(๖) ผรุสาย วาจาย เวรมณี จงเว้นจากการพูดคำหยาบให้เป็นคำสะเทือนใจของบุคคลอื่น
(๗) สัมผัปปลาปา เวรมณี จงเว้นจากการพูดวาจาเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้ประโยชน์
(๘) อนภิชฌา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เห็นโทษของความโลภ ได้แก่ ไม่คิดเพ่งเล็งทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยอยากจะได้มาเป็นของตน
(๙) อพยาบาท จงเว้นจากความโกรธ ความพยาบาท นี่เป็นธรรมะ
(๑๐) สัมมาทิฏฐิ จงมีความเห็นถูก มีความเห็นตรง นี่เป็น ตัวปัญญา เป็นธรรมะ ”
(อ้างอิงจาก :
ที่นี่)


บารมี ๑๐ ทัศ
บารมี แปลว่า กำลังใจเต็ม บารมี ๑๐ ทัศ มีดังนี้
๑.ทานบารมี จิตของเราพร้อมที่จะให้ทานเป็นปกติ
๒.ศีลบารมี จิตของเราพร้อมในการทรงศีล
๓.เนกขัมมบารมี จิตพร้อมในการทรงเนกขัมมะเป็นปกติ เนกขัมมะ แปลว่า การถือบวช แต่ไม่ใช่ว่าต้องโกนหัวไม่จำเป็น
๔.ปัญญาบารมี จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหัตประหารให้พินาศไป
๕.วิริยบารมี  วิริยะ มีความเพียรทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ
๖.ขันติบารมี ขันติ มีทั้งอดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์
๗.สัจจะบารมี สัจจะ ทรงตัวไว้ตลอดเวลา ว่าเราจะจริงทุกอย่าง ในด้านของการทำความดี
๘.อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ
๙.เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น
๑๐.อุเบกขาบารมี วางเฉยเข้าไว้ เมื่อร่างกายมันไม่ทรงตัว ใช้คำว่า "ช่างมัน" ไว้ในใจ
(อ้างอิงจาก : ที่นี่) 



อันอิทธิบาทสี่ 
จะต้องมีคู่ศีลห้า
พรหมวิหารนำพา 
พร้อมทั้งห้าต้องให้ครบ

ต้องการให้หลุดพ้น 
ต้องอดทนกรรมบถ
สิบอย่างต้องน้อมนบ 
ให้บรรจบครบจะดี

นิพพานจะไปได้ 
ด้วยจิตใจบารมี
สิบทัศให้ครบดี 
สุขชีวีนิรันดร์เอย

ปภาวีร์
๒๙ พ.ค. ๒๕๕๗