วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

๒ ห : หาร หาญ


ชื่อเรื่องมาแปลกๆ เกี่ยวกับ ๒ ห. ๒ ห : หาร หาญ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เอาเป็นว่า เพื่อให้หายสงสัยก็คงจะต้องอ่านต่อไปเพื่อจะได้ความกระจ่าง

“หาร” คำนี้ส่วนมากเราน่าจะทราบกันดีว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เพราะคำนี้เกี่ยวข้องกับหลักของคณิตศาสตร์อย่างแน่นอน และที่สำคัญในสังคมไทยเราหากคนทุกคนส่วนกันหารความสุขความทุกข์กันและกัน นั่นหมายความว่า หาร คือ การแบ่งปัน การช่วยเหลือกัน การเฉลี่ยกัน ท่านใดมีความสุขก็แบ่งความสุขให้เพื่อนๆ ที่อยู่รอบข้าง ท่านใดมีความทุกข์ก็แบ่งความทุกข์ให้เพื่อนๆ ที่สนิท ท่านใดมีเงินทองมากมายก่ายกองจนไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไรถึงจะหมดไปในชาตินี้ ก็ลองแบ่งปันช่วยเหลือบริจาคไปสู่ผู้ที่ยากไร้ด้อยโอกาส  “หาร” ดังกล่าวก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

สำหรับคำว่า “หาญ” ผู้อ่านก็คงจะทราบกันดีและอาจจะทราบดีกว่าผู้เขียน เนื่องจาก “หาญ” คำนี้มาจากคำว่า “กล้าหาญ” หรือ “หาญกล้า” ท่านคิดว่าสองคำนี้มีความหมายต่างกันหรือไม่อย่างไรครับ  เอาเป็นว่า “หาญ” มาจากคำว่า “กล้าหาญ” ก็แล้วกันครับ หาญ เป็นเรื่องที่ดีเพราะผู้ใดที่กล้าหาญกระทำในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ต่อส่วนร่วม เสียสละตัวเองเพื่อให้ส่วนร่วมได้รับแต่สิ่งดีๆ งามๆ  เหมือนกันละครที่กำลัง OnAir ในปัจจุบันเรื่อง “ขุนศึก” เป็นเรื่องของความ “หาญ” กล้าหาญเสียสละแม้กระทั่งตัวเองเพื่อประเทศชาติ จะเห็นว่า “หาญ” ดังกล่าว มักจะคู่กับคำว่า “หาร” ที่มาจาก “ทหาร” แล้วที่นี่ ผู้อ่านเห็นหรือยังครับว่า ๒ ห. : หาร หาญ ที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันสัมพันธ์กัน

แต่จริงแล้ววันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม หรือ “หาร” ในสิ่งที่ผู้เขียนได้ประสบพบเจอ ดังต่อไปนี้

วันพุธที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งรถแท็กซี่ไปสถานที่แห่งหนึ่ง (อันนี้จะขอบอกภายหลัง และที่สำคัญ คือ เกี่ยวข้องกับ “หาร” เช่นกัน)  ขณะที่นั่งอยู่บนรถนั้น คนขับกับผู้เขียนก็ได้เริ่ม “หาร” กัน ความหมาย คือ แบ่งปันกัน แลกเปลี่ยนคำพูด ข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน  ซึ่งคนขับคนนี้เขาเล่าว่า แต่ก่อนเขาทำงานเกี่ยวกับการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในมหานครที่เรียกว่า “กรุงเทพ” (อันนี้ก็เช่นกัน ผู้เขียนจะขอบอกภายหลังว่าคนขับแท็กซี่ทำงานอะไร) เขาเคยสูบบุหรี่วันละ ๒ ซอง และดื่มเหล้าเบียร์เกือบทุกวัน ตอนสมัยวัยรุ่นร่างกายก็ไม่เป็นไรเมื่อดื่มก่อนกลางคืนก็ตื่นไปทำงานได้ แต่พออายุเริ่มมากขึ้นลักษณะการดื่มการสูบยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ สภาพร่างกายเริ่มที่จะไปทำงานไม่ได้ ต้องลาพักผ่อน เงินทองหมดไปกับสิ่งดังกล่าวค่อนข้างจะมากมาย จนในที่สุดจะต้องออกจากงานประจำดังกล่าวข้างต้น และเมื่อสองปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๕๓) ได้มีโอกาสเข้าอบรมเกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ดื่มสุรา เขาได้เห็นรูปภาพของผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากบุหรี่และสุรา เขาได้ความ “หาญ” กล้า หรือจะเรียกว่า “กล้าหาญ” ในการหยุดสูบบุหรี่ทันที และหยุดดื่มแบบที่เคยเป็นมา เขาบอกว่าต้องใช้ “ใจ” อย่างเดียวในการหยุด ซึ่งภรรยาของเขาก็เคยบอกว่าให้เลิกให้หยุด แต่เมื่อได้เห็นรูปภาพได้ฟังวิทยากรผู้มีความรู้เกี่ยวกับโทษของการสูบการดื่มแล้ว ทำให้เกิด “หาญ” “ใจกล้าหาญ” ขึ้นมาโดยไม่ต้องมีใครมาบอกมาสั่ง

สำหรับคนขับแท็กซี่ท่านนี้ ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มาเกือบ ๒๔ ปี (น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ หรือ ๒๕๓๑) ปัจจุบันมีลูกชายกำลังเรียน ม.๓ อาชีพของเขาแต่ก่อนนั้น เขาเล่าให้ฟังว่าเขารู้พื้นที่ของกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด เนื่องจากเขาเป็นช่างสำรวจของงานที่เกี่ยวกับระบบโทรศัพท์ ซึ่งจะต้องทำงานประสานกับช่างไฟฟ้า ช่างประปา ในการวางแผนสำรวจการขยายการบริการด้านการสื่อสาร  


เมื่อเขาต้องออกจากที่ทำงานเดิมด้วยสาเหตุส่วนตัวที่เกิดจากการสูบและการดื่ม เขาไม่ได้ท้อแท้ เมื่อเขา “หาญ” กล้าที่จะเลิกในสิ่งที่ไม่ดี เขาสามารถเริ่มในสิ่งที่ดีได้ โดยการประกอบอาชีพสุจริตคือขับแท็กซี่เก็บออมเงินทอง จนในที่สุดมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเองและให้คนอื่นได้เช่าอีก ๓ คัน บางช่วงบางวันเขาก็ออกขับเอง หากไม่ขับก็มีผู้เช่าต่อ มีรายได้ที่เลี้ยงครอบครัวอย่างมีความสุข เพราะภรรยาผู้น่ารักผู้ที่ให้กำลังใจเขาอยู่เคียงข้างเขา ก็ยังคงทำงานในหน่วยงานที่ให้บริการด้านโทรศัพท์พื้นฐาน และประการสำคัญ คือ เงินทองที่ทั้งคู่เก็บออมได้นั้น พวกเขาไปลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ “ยางพารา”
และประการสำคัญ คนขับแท็กซี่ข้างต้น ถึงแม้ว่าเราจะได้อยู่ร่วมกันเพียงไม่กี่นาทีบนรถ เราได้ “หาร” ร่วมกันในความรู้สึกที่ดีๆ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นความ “หาญ” กล้าในการเลิกในสิ่งที่ไม่ดีและกลับมาเริ่มต้นในสิ่งที่ดีๆ เขาผู้ที่เป็นเกี่ยวข้องกับ “หาร” อีกประหนึ่ง คือ “เขาเป็นคนมุกดาหาร” อำเภอหนองสูง จึงทำให้ผู้เขียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนเรื่องราวดังกล่าว เพื่อ “หาร” ให้กับผู้อ่านให้เกิดความ “หาญ” กล้ากระทำในสิ่งที่ดีๆ ต่อตนเองและผู้อื่น  

ก่อนลงรถ ผู้เขียนได้เขียนชื่อที่อยู่ เบอร์โทร และหน้าที่รับผิดชอบที่ “มุกดาหาร” คือ “รักษาราชการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” ท่านผู้อ่านรู้สึกหรือเปล่าครับว่า คนขับแท็กซี่คนดังกล่าว เขาน้ำตาไหลออกมา และเขาบอกว่า “เวลาผมกลับบ้านไปดูต้นยางผม ที่หนองสูง ผมจะแวะไปหาอาจารย์นะครับ” 
ครับ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เกี่ยวกับ “หาร” เพราะ วันพุธที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ผู้เขียนเดินทางไปประชุมร่วมคณะคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ในฐานะและประธานกรรมการสถานศึกษา ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร)

สรุป เอาเป็นว่า เมื่อไรก็ตามที่เรา “หาร” กัน แบ่งปันความสุขร่วมกัน เราจะเกิด “หาญ” กล้าในสิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องดีๆ ครับ