วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไอ แล้วก็ I

หลายวันก่อนผู้เขียนได้ยินมาจากที่ไหนก็ไม่ทราบ (และจำก็ไม่ได้) ว่า สิ่งที่เราไม่สามารถบังคับได้คือ “ไอ” หรือ “การไอ” ทำให้ผู้เขียนมานั่งคิดว่าแล้วทำไมเราจะห้ามการไอไม่ได้ สาเหตุของการไอมีผู้รู้มากมายที่ได้เผยแพร่ไว้ในอินเทอร์เน็ต (เช่น http://www.maipaimairoo.com/?p=160)

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนความรู้สึกต่อไปนี้ จะนำเรื่องของ “ไอ” หรือ “การไอ” และ I (ตัว ไอ ภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง ตัวเรา ตัวฉัน ตัวข้า ตัวกู) มาเชื่อมต่อกันให้ได้

เอาเป็นง่ายๆ คือว่า เมื่อไรก็ตามที่มีสิ่งแปลกปลอมมาสู่ร่างกายของเรา เราก็จะ “ไอ” เพื่อทำให้สิ่งแปลกปลอมดังกล่าวออกมาจากร่างกายของเรา ดังนั้น ย่อมแสดงได้ว่า ไอ กับ I เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกันเป็นอย่างมากเลย หากเมื่อไรก็ตามที่ I (ตัวเรา) ไม่ระมัดระวังได้รับสิ่งไม่ดีสิ่งแปลกปลอมแล้วละก็ จะต้อง “ไอ” อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะมีสติหรือสมาธิอย่างไรก็ตามแต่ก็จะต้อง “ไอ” เพียงแต่เรามีสติให้รู้ว่าตัวเรานั้น “ไอ” และ “ไอ” ว่าตัวเราไอมาจากสาเหตุอะไร เพราะอะไร

หลายท่านที่เป็นสูบบุหรี่นั้น ล้วนน้ำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ตอนที่ยังเป็นหนุ่มสาวก็ยังอาจจะไม่ไอสักเท่าไร แต่เมื่ออายุมากยิ่งขึ้น ร่างกายขาดภูมิคุ้มกันทำให้เป็นบ่อเกิดเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจอย่างที่เราทราบกันดี ซึ่งเมื่อเป็นโรคแล้วเมื่อสูบบุหรี่เข้าไปก็มักจะมีอาการไอเกิดขึ้น

หลายท่านที่ทำงานในสถานที่มีฝุ่นละอองจำนวนมากเป็นเวลานานๆ ก็เช่นกันก็มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ เมื่อปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป ก็เกิดการไอเช่นกัน

หลายท่านที่ทำงานในที่มีหนุ่มสาวจำนวนมากก็อาจจะเกิดการไอได้เช่นกัน นั้นคือมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาสู่วิถีของชีวิต โดยอาการไอดังกล่าวจะเรียกว่า“I love you” อาการอย่างนี้ผู้เขียนขอนำมาคั้นรายการให้เฉยๆ เพื่อจะได้ดูไม่เครียดเกินไปครับ

ที่นี้หากว่า ตัวสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาสู่ตัวเรานั้น เป็นสิ่งที่เรียกว่า ความอยาก ความโกรธ ความลุ่มหลง ความต้องการ (ที่เกินความเป็นจริงกับตัวของเรา) ผู้เขียนคิดว่าตัวเราควรจะต้อง “ไอ” เอาสิ่งนั้นออกจากตัวเราให้ได้และเร็วที่สุดโดยใช้สติของเรา

จะเห็นว่าการ “ไอ” มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ตัวเรามีความสุขขึ้น โดยเฉพาะการ “ไอ” ที่ใช้สติเอาสิ่งที่เรียกว่า “ความอยาก ความโกรธ ความลุ่มหลง ความต้องการ (ที่เกินความเป็นจริงกับตัวของเรา)” ออกจากร่างกาย ออกจากจิตใจของเราให้ได้เร็วที่สุด

ไอ แล้วก็ ไอ (ที่เป็นตัวเรา) หากว่า ไอ (ตัวเรา) สามารถฝึกปฏิบัติตัวเราให้ไอเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราออกได้แล้ว เราก็ควรจะ ไอ แล้วก็ ไอ และ ไอ ให้มากๆ นะครับ

ครับสุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอให้กำลังใจเอาใจช่วยทุกท่านที่มีอาการไอ เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะด้วยทางร่างกายทางจิตใจ ขอให้ท่านได้ใช้สติและจิตที่แนวแน่น ไอสิ่งดังกล่าวออกมาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด นะครับ

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำว่า "รอง"

ก่อนจะสิ้นปี (๒๕๕๔) เพื่อจะขึ้นสู่ปีใหม่ (๒๕๕๕) มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ยินและได้อ่าน คือ คำว่า "รอง" ซึ่งหลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินได้เห็นได้กล่าวได้พูดเกี่ยวกับคำว่า "รอง" อย่างแน่นอนในชีวิตนี้

"รอง" หากเรานึกถึงภาพยนต์ ก็จะมักกล่าวถึง "พระรอง" หรือ ตัวที่เล่นเด่นน้อยกว่า "ตัวพระเอก"

แต่หากว่าเป็นระดับประเทศ ผู้บริหารประเทศ ก็จะเป็น "รองนายกรัฐมนตรี" คือ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่ไม่มากเท่ากับ "นายกรัฐมนตรี" หรือ ในระดับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เราก็มักจะได้ยินได้แน่นอนเช่นกัน เป็นต้นว่า รองผู้ว่าราชการ รองอธิบดี รองอธิการบดี รองผู้อำนวยการ รองผู้กำกับการฯ รองนายกเทศบาล รองนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจอยู่เหมือนกัน คือ หากเป็นหน่วยงานระดับเล็กๆ อาจจะไม่มีคำว่า "รอง" เช่น ไม่มีว่าเป็น "รองนายอำเภอ" ไม่มีว่าเป็น "รองกำนัน" ไม่มีว่าเป็น "รองผู้ใหญ่บ้าน"

นอกจากนั้น คำว่า "รอง" หากเป็นคำที่ใช้กับชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา ก็อาจจะเช่น รองเท้า รองพื้น (การรองพื้นแต่งหน้าของท่านสุภาพสตรี) รองบาตร (ที่รองบาตรพระสงฆ์) ผู้เขียนคิดออกเพียงเท่านี้ครับ

ที่นี้ขออนุญาตกับมาที่คำว่า "รอง" ข้างต้น ผู้เขียนในฐานะที่ดำรงตำแหน่ง "รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" มาเป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี (ตั้งแต่ ๒๕๔๕) คิดว่า คำว่า "รอง" มันน่าจะมีความหมายว่าอย่างไรกันดี แต่ไม่เป็นไรครับ ก่อนอื่นขอย่อย ๓ ตัวอักษร คือ ร.เรือ อ.อ่าง และ ง.งู ออกจากกันจากคำว่า "รอง" ให้มีเพียง ๒ ตัวอักษร เป็นดังนี้

๑. ร กับ ง เป็น รง
๒. ร กับ อ เป็น รอ
๓. อ กับ ง เป็น อง
๔. ง กับ ร เป็น งร
๕. ง กับ อ. เป็น งอ
๖. อ กับ ร เป็น อร


จากทั้ง ๖ กรณีข้างต้น ผู้เขียนคิดว่าเมื่อเรานำเพียงสองตัวอักษรที่มาจากคำว่า "รอง" จะมีความหมายเพียงกรณีที่ ๒ คือ "รอ" กรณีที่ ๕ คือ "งอ" และ กรณีที่ ๖ คือ "อร"

ดังนั้น "รอง" ในความหมายของผู้เขียนจะเป็นดังนี้ หากเป็นตัวบุคคลที่มีตำแหน่งเป็น "รอง" อะไรก็ตามแต่ จะต้องมีความอดทนในการ "รอ" จะต้องเป็นบุคคลที่พร้อมจะต้อง "งอ" ได้เสมอ (ความหมายคือมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ปรับตัวในเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความถูกต้อง) และ จะต้องเป็นบุคคลที่พร้อมไปด้วย "อร" คือ ความงดงาม ความสวยงาม การทำใจให้ดี ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย นอกจากนั้น หากตัวเราเองตกอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็น "รอง" (คือ ด้อยกว่าคู่ต่อสู้ของเรา) เราจะควรจะต้อง "รอ" และ "งอ" และ "อร" ให้ได้ นั้นหมายความว่า ตัวเราจะต้องฝึกปฏิบัติให้เป็นผู้รอที่ดี เป็นผู้ที่ปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมสถานการณ์ต่างๆ อย่างทันท่วงที และ เป็นผู้ที่มีจิตใจที่งดงามปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเองที่ทำอยู่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด

ครับ สำหรับปีเก่า ๒๕๕๔ กำลังจะผ่านไป หากเราลอง เพื่อเป็น "รอง" เพื่อเข้าสู่ปีใหม่ ๒๕๕๕ ผู้เขียนเชื่อว่า เราเองจะ "ไม่เป็นรองใคร" ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คิดสิ่งใดก็ขอให้ได้สมดังหมาย มีความสุข ร่ำรวยในปีใหม่ที่กำลังมาถึงนะครับ