วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ทำไมจะต้องจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาที่จังหวัดมุกดาหาร

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๐ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และ วัฒนธรรม (๓) “พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม...” จะเห็นว่าตามรัฐธรรมดังกล่าวรัฐจะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่จังหวัดมุกดาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการเปิดใช้โดยสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒ (จังหวัดมุกดาหาร –แขวงสะหวันนะเขต) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงในทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและพื้นที่ชายแดน เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๙ ของ สปป. ลาว แขวงสะหวันนะเขต ไปเชื่อมต่อกับเวียดนามตอนกลางที่มีหัวเมืองสำคัญของเวียดนาม คือ เมืองกวางตรี เมืองเว้ (เมืองเก่า) และเมืองดานัง อีกทั้ง จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับการรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้น รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา “ส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค” ดังนั้น จังหวัดมุกดาหารน่าจะสามารถเป็นเมืองการศึกษาเพื่อที่จะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคได้ เพราะจังหวัดมุกดาหารสามารถเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม จีน โดยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอายุเกือบประมาณ ๒๐ ปี และมีวิสัยทัศน์ “เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ที่เน้นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตและประชาชนบนฐานภูมิปัญญาของอีสานใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตและประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้นมีพื้นที่ของจังหวัดมุกดาหารรวมอยู่ด้วย เพื่อทำให้วิสัยทัศน์บรรลุเป้าหมายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้มีการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร โดยได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยเริ่มแรกเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และวันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓/๒๕๔๘ ได้รับทราบและเห็นชอบให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร มีการดำเนินงานในรูปแบบของ “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี” โดยใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และต่อมาวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ จังหวัดมุกดาหารได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่โดยมอบอาคารหลังเก่าของโรงเรียนมุกดาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินการปรับปรุงสำหรับการขยายการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาการบัญชี และเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ ได้อนุมัติเงินสำรองมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อใช้ปรับปรุงอาคารหลังเก่าโรงเรียนมุกดาลัย จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งได้เปิดรับอาจารย์และเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร จำนวน ๔ อัตราและได้แต่งตั้ง ดร.กุลภา โภคสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อทำหน้าที่บริหารงานและประสานงานการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งได้เปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (โดยมีท่านนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร ตัวแทนจากหน่วยงานจังหวัดมุกดาหาร และคณบดีคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและมีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีกับโรงเรียนมุกดาลัย) ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓/๒๕๕๑ มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และได้ขอความเห็นชอบในการใช้
พื้นที่ป่าไม้บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จำนวนพื้นที่ป่าไม้เนื้อที่ประมาณ ๑,๑๓๔ ไร่ เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร
หลังจากนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประชุมร่วมกับ ตัวแทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ศ.พิเศษ ดร.จอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัย) และ ตัวแทนจังหวัดมุกดาหาร (ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร) เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และเมื่อวันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พร้อมด้วยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ (ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์) รักษาการผู้อำนวยการกองแผนงาน (นายธีระศักดิ์ เชียงแสน) และหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ดร.กุลภา โภคสวัสดิ์) เดินทางตรวจพื้นที่ป่าไม้บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร ซึ่งต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบการใช้พื้นที่ป่าไม้ ณ บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้อนุมัติข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการบริหารวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จะเห็นว่าการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน นั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ดำเนินการด้วยความตั้งใจจริงและเป็นขั้นตอนเพื่อให้จังหวัดมุกดาหารมีสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีที่สามารถทำให้ลูกหลานชาวจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นพร้อมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดมุกดาหารจะมีทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ (ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร (ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ )ได้ถวายรายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งถวายรายงานการก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และมีแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ต่อไป นอกจากนั้น เมื่อวันพุธที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เรียนเชิญผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ดูงานการจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาเขตมุกดาหาร พร้อมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่ภูผาเจี้ย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจะก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา โดยอาคารดังกล่าวมีเอกลักษณ์บางส่วน ประกอบด้วย เช่น พื้นที่ส่วนกลางขนาด ๑๒๐ x ๑๒๐ เมตร เป็นจำนวน ๙ ไร่ ซึ่งหมายถึง รัชกาลที่ ๙ พื้นที่อาคาร๗ ช่วงอาคาร ซึ่งหมายถึง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ พื้นที่ตรงกลางอาคารมีพระฉายาลักษณ์ขนาด ๗ x ๑๒ เมตร เท่ากับ ๘๔ ตารางเมตร และพื้นที่ด้านหน้าวิทยาเขตมีพระพุทธรูป ที่ชื่อ “พระพุทธปทุมมุกดานพรัตน์” ที่มีความหมายว่า พระพุทธรูปที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ปทุม) และชาวมุกดาหาร (มุกดา) ร่วมกันถวายแด่รัชกาลที่ ๙ (นพรัตน์) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาวิทยาเขตมุกดาหารให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัจจัยหลายๆ ประการ เช่น พื้นที่กายภาพที่เหมาะสม การให้ความร่วมมือของประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหาร การสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนจังหวัดมุกดาหาร การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล การสนับสนุนงบประมาณจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหารที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้น้อมนำพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒ ที่ว่า “...งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น...” และพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานแก่คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๐ ที่ว่า “...ผู้ที่ได้รับการศึกษาดี การศึกษาที่สูงขึ้นย่อมจะเป็นผู้ที่มีโอกาสในการที่จะเลือกงานและเลือกวิถีการดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่หมายความว่าจะมีโอกาสที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ก็ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทางด้านการศึกษาหลายๆ หน่วยงาน...” ดังนั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหารจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของจังหวัดมุกดาหารอันจะทำให้เป็นแหล่งวิชาการเพื่อชาวลูกหลานมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ซึ่งเป็นอาคารที่จะถูกก่อสร้าง ณ พื้นที่บริเวณภูผาเจี้ย พวกเราทุกคนพร้อมใจพร้อมกายเพื่อน้อมถวายพ่อหลวงของเราที่พระองค์ท่านจะทรงพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวมุกดาหารทุกท่านจะร่วมกายใจทำให้อาคารดังกล่าวสมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน เพราะถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวมุกดาหารการเดินหน้าของวิทยาเขตมุกดาหารคงจะต้องไม่สามารถทำได้และอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการในอนาคต
สุดท้ายนี้ ขออนุญาตนำเสนอ คำว่า “MUKDAHAN” ซึ่งประกอบด้วย M = Management U = Understand K = Knowledge D = Development A = Advance H = Harmony A = Ambition N = Natural or Network ดังนั้น “MUKDAHAN CAMPUS” วิทยาเขตมุกดาหารมุ่งเน้นการจัดการความเข้าใจความรู้ด้านต่างๆ
เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าทันสมัยที่กลมกลืนกับความปรารถนาของธรรมชาติ